Responsive image
สภาพทั่วไป

 
อำเภอหล่มสัก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นอำเภอขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 1,535.3 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 44 กิโลเมตร
ชื่อ "หล่มสัก" เพี้ยนมาจากคำว่า "ลุ่มสัก" อันหมายถึง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก เนื่องจากเป็นเมืองที่มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน ชาวอำเภอหล่มสักส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวลาวจากนครหลวงเวียงจันทน์อพยพมาอาศัยอยู่ ณ ที่นี่ โดยมีชื่อเรียกว่า "ชาวลาวหล่ม" หรือ "ชาวไทยหล่ม" บ้านเรือนของผู้ที่อาศัยที่นี่มักปลูกชิดติดกัน โดยเฉพาะในบริเวณหอนาฬิกาประจำอำเภอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำเภอ

ทิศเหนือ ติดต่อกับ อําเภอหล่มเก่า และอําเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์
ทิศใต้ ติดต่อกับ อําเภอเมืองเพชรบูรณ์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อําเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอําเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อําเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

1.ลักษณะพื้นที่ ส่วนกว้างที่สุดจากทิศตะวันออกคือทิศตะวันตกประมาณ 44 กิโลเมตร และส่วนยาวที่สุด
จากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 52 กิโลเมตร
2. ลักษณะภูมิประเทศ
อําเภอหล่มสัก เป็นพื้นที่ราบขนาดกลาง มีภูเขาขนาบ 3 ด้าน คือ ทิศเหนือในตําบลท่าอิบุญ ทิศตะวันออก ในพื้นที่ตําบลห้วยไร่ บ้านติ้ว ปากช่อง บ้านกลาง และข้างตะลูด ทิศตะวันตกในพื้นที่ตําบลน้ำก้อ น้ำชุน บุ่งน้ำเต้า และบุ่งคล้า พื้นที่ที่เป็นภูเขาประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด
สภาพดินในที่ราบ เป็นดินร่วนปนดินเหนียว เหมาะสําหรับการปลูกข้าว ส่วนในพื้นที่ภูเขาเป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียวปนดินทรายเหมาะสําหรับปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ขิง และไม้ยืนต้น
3. สภาพภูมิอากาศ
ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม จะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวอุณภูมิเฉลี่ย 23.1 องศาเซลเซียสและอุณภูมิจะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน ในเดือนเมษายน จะเป็นเดือนร้อนที่สุด อุณภูมิเฉลี่ย 30.16 องศาเซลเซียส และในช่วงเดือนสิงหาคม – กลางเดือนกันยายน จะมีฝนตกชุก น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมล้นตลิ่ง
4. ทรัพยากรธรรมชาติ
4.1 ป่าไม้ ประกอบด้วย
   1) อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ในพื้นที่ตําบลท่าอิบุญ ห้วยไร่ บ้านติ้ว ปากช่อง บ้านกลาง และช้างตะลูด เนื้อที่ประมาณ 141,875 ไร่
   2) ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำป่าสักฝั่งซ้าย ในพื้นที่ตําบลท่าอิบุญ ห้วยไร่ บ้านติ้ว ปากช่อง บ้านกลาง และช้างตะลูด เนื้อที่ประมาณ 84,905 ไร่
   3) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูผาแดง อยู่ในพื้นที่ตําบลท่าอิบุญ ห้วยไร่ บ้านติ้ว ปากช่อง บ้านกลาง และช้างตะลูดเนื้อที่ประมาณ 141,845 ไร่
   4) ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาโปลกหล่น ในพื้นที่ตําบลน้ำชุน บุ่งน้ำเต้า และบุ่งคล้า เนื้อที่ประมาณ 18,424 ไร่
   5) อุทยานแห่งชาติเขาค้อ อยู่ในพื้นที่บางส่วนของตําบลบุ่งน้ำเต้า น้ำชุน น้ำก้อ และน้ำเฮี้ย
4.2 แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ประกอบด้วย
แม่น้ำ 1 แห่ง ลําคลอง 11 แห่ง ลําห้วย 102 แห่ง หนอง บึง (ขนาดใหญ่) 25 แห่ง แต่ส่วนใหญ่มีสภาพตื้นเขิน

Responsive image